รัชกาล ของ พระเจ้าอีริคที่ 7 แห่งเดนมาร์ก

พระราชสาส์นราชาภิเษกของอีริคแห่งพอเมอเรเนีย

ในช่วงต้นรัชกาล กษัตริย์อีริคทรงทำให้เมืองโคเปนเฮเกนเป็นทรัพย์สินของพระราชวงศ์เดนมาร์กในค.ศ. 1417 จึงเป็นการรับรองสถานะเมืองหลวงของเดนมาร์ก พระองค์ได้ริบสิทธิในการครอบครองปราสาทโคเปนเฮเกนจากบิชอปแห่งรอสคิลด์ และตั้งแต่นั้นมาปราสาทก็อยู่ภายใต้การครอบครองของพระองค์[11]

จากแหล่งข้อมูลร่วมสมัย มีการบรรยายว่ากษัตริย์อีริคทรงมีความชาญฉลาด มีวิสัยทัศน์ ขะมักเขม้นและทรงมีความแน่วแน่ มีการบรรยายว่าทรงเป็นบุรุษที่มีเสน่ห์และตรัสด้วยถ้อยคำที่ไพเราะจากการที่เสด็จประพาสทั่วยุโรปครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ 1420 แต่ในทางลบมีการบรรยายว่าพระองค์ค่อนข้างอารมณ์ร้อน ขาดแนวคิดทางด้านการทูตและทรงดื้อรั้นอย่างที่ควบคุมไม่ได้ สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 2 ขณะทรงเป็นบิชอปได้บรรยายถึงกษัตริย์อีริคว่า ทรงมี "พระวรกายงดงาม พระเกศาสีเหลืองอมแดง ใบหน้าแดง พระศอยาวแคบ...พระองค์ไม่ต้องการความช่วยใดๆ ทรงทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงกระโดดขึ้นประทับหลังม้าโดยไม่ต้องเหยียบโกลน พระองค์สามารถดึงดูดผู้หญิงทุกคนได้ โดยเฉพาะองค์จักรพรรดินีที่ทรงโหยหาความรัก"[12]

ตั้งแต่ค.ศ. 1423 จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1425 กษัตริย์อีริคเสด็จการจาริกแสวงบุญไปยังเยรูซาเลม หลังจากเสด็จพระราชดำเนินถึง พระองค์ได้รับการขนานพระนามให้เป็นอัศวินแห่งภาคีพระคูหาศักดิ์สิทธิ์โดยคณะฟรันซิสกัน ผู้พิทักษ์ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และในภายหลังพระองค์ก็ขนานนามให้แก่อีวาน อันซ์ ฟรันโคปัน พระสหายผู้ร่วมคณะจาริกแสวงบุญด้วย ในช่วงที่พระองค์เสด็จจาริกแสวงบุญ พระราชินีฟิลิปปาทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของทั้งสามอาณาจักรโดยบัญชาการจากโคเปนเฮเกน[13]

ตราพระราชลัญจกรของอีริคแห่งพอเมอเรเนีย (1398) ภาพวาด: (กลาง) สิงโตยืนด้วยขาหลังสวมมงกุฎและรักษาขวาน (แทนนอร์เวย์) ภายในโล่มีกางเขนพาดผ่านแบ่งเป็น 4 ส่วน: ส่วนซ้ายบน สิงโตสามตัวสวมมงกุฎสีจาง ถือธงเดนเนบอร์กเหนือรูปหัวใจ (แทนเดนมาร์ก) ส่วนขวาบน: มงกุฎทั้งสาม (แทนสวีเดนและสหภาพคาลมาร์) ส่วนซ้ายล่าง: สิงโตยืนด้วยขาหลัง (สิงโตฟอลกุง) (แทนสวีเดน) และส่วนขวาล่าง (ขวา): นกกริฟฟินแยกตัวออกมาจากส่วนขวา (แทนพอเมอเรเนีย)

การปกครองของกษัตริย์อีริคเพียงพระองค์เดียวเกือบทั้งหมดได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งกับเคานท์แห่งชอนบวร์คและฮ็อลชไตน์ พระองค์ทรงพยายามยึดคืนจัตแลนด์ใต้ (ดัชชีชเลสวิช) ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอทรงเคยเอาชนะได้มาแล้ว แต่กษัตริย์อีริคทรงเลือกใช้นโยบายการสงครามแทนการเจรจา ผลทีได้คือสงครามที่มีการทำลายล้างซึ่งไม่จบเพียงแค่พระองค์ไม่สามารถพิชิตจัตแลนด์ใต้ได้เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การสูญเสียพื้นที่จัตแลนด์ใต้ในส่วนที่พระองค์ครอบครองอยู่แล้วด้วย ในช่วงสงคราม พระองค์ทรงแสดงพลังและความหนักแน่นอย่างมากแต่ทรงขาดความเชี่ยวชาญเป็นสำคัญ ในค.ศ. 1424 คำตัดสินชี้ขาดของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์โดยซีกิสมุนท์ กษัตริย์แห่งเยอรมนีที่ทรงยอมรับให้กษัตริย์อีริคเป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรมตามกฎหมายของจัตแลนด์ใต้ คำตัดสินนี้ถูกละเลยโดยพวกขุนนางฮ็อลชไตน์ สงครามที่ยาวนานสร้างความตึงเครียดแก่เศรษฐกิจเดนมาร์กและเช่นเดียวกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของแถบภาคเหนือ[14]

การกระทำที่มองการณ์ไกลของกษัตริย์อีริคคือ ความพยายามเสนอสิทธิค่าใช้จ่ายเซาด์ (เออเรซุนด์โทลเดน; Øresundtolden) ในค.ศ. 1429[15] ซึ่งมีการบังคับใช้จนถึงค.ศ. 1857 เป็นการให้เรือทุกลำที่ต้องการเข้าหรือออกจากทะเลบอลติกโดยผ่านเดอะเซาด์ ("เออเรซุนด์") ต้องชำระค่าธรรมเนียมทุกลำ และเพื่อช่วยบังคับใช้แนวทางนี้ กษัตริย์อีริคทรงสร้างปราสาทครอนบอร์ก ซึ่งเป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ทรงพลังตั้งอยู่บนส่วนที่แคบที่สุดของเดอะเซาด์ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1400[16] ส่งผลให้มีการควบคุมการเดินเรือทั้งหมดผ่านเออเรซุนด์และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ราชอาณาจักรของพระองค์ให้มีความมั่งคั่ง[15] และทรงทำให้เมืองเฮลซิงเงอร์มีการขยายตัวอย่างมาก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพระองค์สนพระทัยในการค้าขายและอำนาจทางทะเลของเดนมาร์ก แต่ก็เป็นการท้าทายอำนาจอื่นทางแถบทะเลบอลติก โดยเฉพาะเมืองสันนิบาตฮันเซอที่พระองค์ทรงสู้รบด้วย ตั้งแต่ค.ศ. 1426 ถึง 1435 พระองค์ทรงทำสงครามเดนมาร์ก-ฮันเซอ (1426-1435) พวกฮันเซอและพวกฮ็อลชไตน์โจมตีเมืองหลวงในการระดมยิงโคเปนเฮเกน (1428) ซึ่งกษัตริย์อีริคได้เสด็จออกจากโคเปนเฮเกน ส่วนพระราชินีฟิลิปปา พระมเหสีทรงพยายามป้องกันเมืองหลวง[17]

ในช่วงทศวรรษที่ 1430 นโยบายของกษัตริย์ก็ล้มเหลว ในค.ศ. 1434 ชาวนาและคนงานเหมืองในสวีเดนได้เริ่มก่อจลาจลในระดับอาณาจักรและสังคม ซึ่งในไม่ช้ากลายเป็นเครื่องมือทางอำนาจของขุนนางสวีเดนทำให้กษัตริย์อ่อนแอลง กบฏเอ็งเงลเบรกท์ (ค.ศ. 1434-1436) นำโดยเอ็งเงลเบรกท์ เอ็งเงลเบรกท์สัน ขุนนางสวีเดน (ราวค.ศ. 1390-4 พฤษภาคม ค.ศ. 1436) ชาวสวีเดนได้รับผลกระทบจากการทำสงครามกับสันนิบาตฮันเซอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าสวีเดนไปยังชเลสวิช, ฮ็อลชไตน์, เมคเลินบวร์คและพอเมอเรเนีย การก่อกบฏบั่นทอนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสหภาพคาลมาร์ นำมาสู่การขับไล่กองทัพเดนมาร์กออกจากสวีเดนชั่วคราว ในนอร์เวย์ เกิดการกบฏเช่นกันในค.ศ. 1436 นำโดยอามุนด์ ซีเกิร์ดสัน โบลท์ (ค.ศ. 1400-1465) ทำให้เกิดการปิดล้อมเมืองออสโลและป้อมปราการอาเกิชฮืส แต่ก็มีการเจรจาสงบศึก[18][19]

กษัตริย์อีริคทรงยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องทั้งจากพวกฮ็อลชไตน์และสันนิบาตฮันเซอ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1435 พระองค์ลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาสันติภาพที่วอร์ดิงบอร์กกับสันนิบาตฮันเซอและฮ็อลชไตน์ ภายใต้ข้อกำหนดของสนธิสัญญา สันนิบาตฮันเซอได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสิทธิค่าใช้จ่ายเซาด์และดัชชีชเลสวิชถูกผนวกเข้ากับฮ็อลชไตน์

ใกล้เคียง

พระเจ้าอีริคที่ 7 แห่งเดนมาร์ก พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก พระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งเดนมาร์ก พระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก พระเจ้าอีริคที่ 3 แห่งเดนมาร์ก

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจ้าอีริคที่ 7 แห่งเดนมาร์ก http://fmg.ac/Projects/MedLands/DENMARK.htm#ErichV... http://www.ruegenwalde.com/greifen/bog-9/bog-9.htm http://danmarkshistorien.dk/leksikon-og-kilder/vis... http://www.denstoredanske.dk/Danmarks_geografi_og_... http://mfs.dk/wp-content/uploads/2016/06/1957Ethis... http://www.academia.edu/download/33214303/Krogen.p... http://www.norgeshistorie.no/senmiddelalder/makt-o... http://www.dokpro.uio.no/perl/middelalder/diplom_v... http://runeberg.org/dbl/3/0434.html http://runeberg.org/nfad/0256.html